Tags:
Node Thumbnail

Harry McCracken บรรณาธิการของ Fast Company ได้เขียนบทความเจาะลึกถึงการบริหารจัดการองค์กรของ Instagram สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ถูก Facebook ซื้อไปที่มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2012 ผ่านไป 5 ปี จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มจาก 30 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน สะท้อนความนิยมที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด รวมทั้งเริ่มหารายได้จากโฆษณาแล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดจากการวางแผนที่น่าสนใจภายในองค์กร

เริ่มจากวันที่ออกจากกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส

เมื่อกลางปี 2015 ผู้บริหาร Instagram ได้พูดคุยกันและเสนอความคิดว่า Instagram น่าจะเลิกบังคับให้โพสต์ภาพเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้แล้ว ซึ่งถือเป็นความคิดที่ท้าทายมาก เพราะแอพ Instagram มีจุดเด่นคือความฮิปสเตอร์ ที่กระทั่งไอคอนแอพยังเป็นรูปกล้องแนวโพลารอยด์ ที่เป็นเหตุผลของการบังคับให้ใช้รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

Ian Spalter หัวหน้าฝ่ายออกแบบ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นที่เขาเพิ่งย้ายจาก YouTube เพื่อมาร่วมงานกับ Instagram ว่าเขาตกใจมากที่ Instagram เลือกจะทำลายเอกลักษณ์ของตน ซึ่งสุดท้ายแล้ว Instagram ก็เปิดให้โพสต์ภาพ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อเดือนสิงหาคม 2015

alt=

ซีอีโอ Kevin Systrom บอกว่าเมื่อเลือกเปลี่ยนแปลงและผลตอบรับออกมาดี ก็ส่งผลให้ Instagram มีความกล้าที่จะลองทำสิ่งแปลกใหม่มากขึ้นนับตั้งแต่ตอนนั้น ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ตามมา อาทิ Stories , ถ่ายทอดสด , สติ๊กเกอร์ , ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม , จัด Timeline แบบใหม่ , แอพวนลูป Boomerang จนถึง โลโก้และดีไซน์ใหม่

Systrom บอกว่าทุกครั้งเขาจะตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรหาก Instagram ที่เรารู้จักไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ซึ่งนำมาสู่การเลือกที่จะเปลี่ยนให้รวดเร็ว ก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน

เป็นให้มากกว่าแอพแชร์ภาพถ่าย

Instagram เริ่มต้นจากการเป็นแอพแชร์ภาพถ่าย ใส่ฟิลเตอร์สวยงาม แต่วันนี้ Systrom บอกว่าพันธกิจ (Mission) ของ Instagram คือ เพิ่มความสัมพันธ์ของผู้คนให้แนบแน่น ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์นั่นทำให้ Instagram เพิ่มฟีเจอร์ที่หลากหลายมากขึ้นแบบไม่มีกรอบมาจำกัดอีก

ฟีเจอร์ Stories อาจทำให้ผู้ใช้ Instagram ตั้งแต่รุ่นแรกๆ รู้สึกแอพเดี๋ยวนี้มีอะไรเยอะเกินไป เรื่องนี้ Tim Van Damme พนักงานลำดับที่ 9 ของ Instagram ที่รับผิดชอบงานออกแบบบอกว่า เพราะเดิม แอพ Instagram เขียนเองโดยสองผู้ก่อตั้ง จึงมีแนวทางคือทำให้เรียบง่ายที่สุด เนื่องจากมีกันอยู่สองคน แต่ตอนนี้ Instagram มีพนักงานเกือบ 500 คน (ในวันที่ Facebook ซื้อกิจการมีพนักงาน 13 คน) การพัฒนาสิ่งใหม่ต่างๆ จึงทำได้ง่ายขึ้นมาก

alt=

แต่ถึงจะเพิ่มฟีเจอร์มากมาย หลักสำคัญของ Instagram ก็คือ ผู้ใช้งานต้องสามารถเข้าใจได้ว่าฟีเจอร์เหล่านี้คืออะไร และใช้อย่างไร

การอยู่ในเครือของ Facebook ยังช่วยให้ Instagram พัฒนาฟีเจอร์ที่ต้องพึ่งพาระบบขนาดใหญ่อย่างการถ่ายทอดสด Live ง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีของ Facebook เลย แล้วที่เหลือ Instagram ก็ควบคุมประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก

Systrom บอกว่าเขาเองไม่อยากให้ Instagram เป็นแอพที่มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อผู้ใช้งานมีหลายร้อยล้านคน ก็จะมีความต้องการที่น่าสนใจใหม่ๆ เข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าที่จะตัดคุณสมบัติซึ่งไม่จำเป็นออกไปด้วย (เช่น Photo Maps )

ถึงตอนนี้อาจเร็วไปที่จะสรุปว่า Instagram จะสามารถเอาชนะในการแข่งขันกับแอพคล้ายคลึงกับอย่าง Snapchat ได้หรือไม่ แต่การมีผู้สนับสนุนเบื้องหลังอย่าง Facebook ทำให้ Instagram สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วเหนือกว่า Snapchat นั่นเอง

Instagram

ที่มา: Fast Company

บทความเก่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว: ทำไม Facebook ถึงต้องซื้อ Instagram

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
Contributor Symbian Ubuntu In Love
on 21 March 2017 - 10:34 #976207
panurat2000's picture

[ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม],(https://www.blognone.com/node/90316) => ใส่ภาพเป็นอัลบั้ม

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 21 March 2017 - 18:16 #976330
mr_tawan's picture

หัวข่าวเข้ากับ ข่าว Cobol/Fortran ข้างบนมาก


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ