Tags:
Node Thumbnail

นอกเหนือจากป้ายโฆษณาสารพัดสารพันที่ผู้โดยสารจะมองเห็นตามสถานีรถไฟแล้ว ตอนนี้ Tokyo Metro ผู้ให้บริการเดินรถไฟโดยสารใน Tokyo ได้เพิ่มป้ายแสดงภาพแบบใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารที่มารอขึ้นรถไฟแต่ละสถานี

ป้ายดังกล่าวจะแสดงภาพและข้อความบอกให้คนที่ยืนรอรถไฟอยู่ตรงชานชาลารู้ได้ว่าในตู้โดยสารแต่ละตู้ของรถไฟที่กำลังจะมาถึงนั้นตู้ไหนมีผู้โดยสารมากหรือน้อย เพื่อให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจเลือกรอขึ้นรถไฟได้เหมาะสมตรงความต้องการของตนเอง

No Description กราฟิกแสดงความหนาแน่นของผู้โดยสารในแต่ละตู้โดยสาร แบ่งออกเป็น 4 ระดับ แยกเป็นสีให้สังเกตได้ง่าย

ระบบนี้อาศัยการติดตั้งกล้อง depth camera ที่ชานชาลาสถานีรถไฟเพื่อบันทึกภาพวิดีโอของผู้โดยสารที่อยู่ในขบวนรถ การใช้กล้องแบบ depth camera ซึ่งมีการแสดงข้อมูลระยะความลึกของวัตถุในภาพ (ว่าง่ายๆ คือเป็นเทคโนโลยีการบันทึกภาพแบบเดียวกับกล้อง Kinect ของ Microsoft) ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถประเมินความหนาแน่นของวัตถุในภาพที่บันทึกได้ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้คนในตู้โดยสารของรถไฟ) ชัดเจนแม่นยำขึ้น

ยกตัวอย่างเพื่อการทำความเข้าใจแบบง่ายๆ เป็นต้นว่า หากเราเห็นคนในภาพวิดีโอ 10 คน ยืนเรียงกันแทบจะเป็นหน้ากระดานอยู่หน้ากล้อง นั่นอาจหมายความว่าในพื้นที่ดังกล่าวยังมีคนอีกมากยืนเบียดเสียดกันอยู่ด้านหลัง (แต่ถูกบังไว้ทำให้กล้องมองไม่เห็น) ทำให้คนจำนวน 10 คนที่กล้องมองเห็นนี้ต้องมายืนออเรียงกันอยู่หน้ากล้อง แต่หากภาพที่เห็นคนจำนวน 10 คนนั้น มีจำนวนคนราวครึ่งหนึ่งยืนอยู่ในระยะที่ไกลจากกล้องออกไปมาก ก็ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าพื้นที่ในบริเวณที่กล้องจับภาพอยู่มีผู้คนหนาแน่นน้อยกว่ากรณีแรก

Tokyo Metro ใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยประมวลผลภาพที่กล้องบันทึกไว้ได้ เพื่อตีความเป็นระดับความหนาแน่นของผู้โดยสารในขบวนรถไฟ จากนั้นผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปแสดงผลบนป้ายที่ถูกติดตั้งอยู่ที่สถานีถัดๆ ไปของรถไฟขบวนดังกล่าว

No Description ภาพอธิบายหลักการทำงานโดยรวมของระบบแสดงความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถไฟผ่านป้ายบริเวณชานชาลา

นอกเหนือจากระบบการทำงานเพื่อแสดงภาพและข้อความบนป้ายบริเวณชานชาลาของสถานีรถไฟแล้ว Tokyo Metro มีแผนที่จะพัฒนาระบบนี้ให้ส่งต่อข้อมูลไปแสดงผลในแอปสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟสามารถรับรู้ข้อมูลเพื่อวางแผนการเดินทางได้ง่ายยิ่งขึ้น

No Description ภาพอธิบายหลักการทำงานโดยรวมของระบบแสดงความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถไฟผ่านแอปสมาร์ทโฟน

ในตอนนี้ระบบแสดงความหนาแน่นของผู้โดยสารในรถไฟเพิ่งเริ่มเปิดทดสอบใช้งานที่สถานี Waseda ของรถไฟสาย Tozai เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยโปรแกรมทดสอบนี้จะเก็บข้อมูลการใช้งานและข้อมูลจากแบบสำรวจความพึงพอใจของประชาชนผู้ใช้บริการไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็จะมีการขยายขอบเขตการใช้งานระบบนี้ออกไปยังสถานีอื่นและรถไฟสายอื่นๆ

เป้าหมายของระบบเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการรถไฟโดยสาร เมื่อผู้คนที่มารถขึ้นรถไฟรู้ได้ว่าตู้โดยสารตู้ไหนมีคนน้อย ก็ย่อมตัดสินใจเลือกขึ้นรถไฟได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ฝั่งของ Tokyo Metro เองก็พึงคาดหวังว่าการที่ผู้โดยสารสามารถใช้บริการโดยกระจายความหนาแน่นไปแต่ละตู้ในขบวนรถได้ดีขึ้น ย่อมทำให้การเดินรถมีประสิทธิภาพสามารถขนส่งผู้คนโดยเฉลี่ยต่อเที่ยวได้มากขึ้นด้วย

ที่มา - PR Times ผ่าน SoraNews24

Get latest news from Blognone

Comments

By: KuLiKo
Contributor iPhone Windows Phone Android
on 2 October 2022 - 15:31 #1263840
KuLiKo's picture

ของเราน่าจะประหยัดตรงนี้ไปได้ เพราะตู้ไหนก็แน่น...

By: specimen
Windows Phone Android
on 2 October 2022 - 16:23 #1263843
specimen's picture

ถ้าเป็นผม คงไม่มีสติปัญญาใช้การวิเคราะห์ลึกซึ้งแบบนั้น

คงใช้การติดกล้องในแนวประตู แล้วนับจำนวนคนเข้าออกเอาดื้อ ๆ เลย ซึ่งจะบอกได้ว่า มีคนกี่คนขึ้นรถมา หรือ ออกจากรถไป

หรือไม่งั้น ก็ติดกล้องในแนวสูงขึ้นกว่าหัวคน ไม่ใช่ในแนวระนาบ แล้วนับจำนวนหัวคนที่อยู่บนรถก็ได้

แล้วเอาข้อมูลนั้นไปใช้งานต่อ

เห็นวิธีคิดของเขาแล้ว ลึกซึ้งมาก

แต่ส่งสัยนิดนึง

หากเราเห็นคนในภาพวิดีโอ 10 คน ยืนเรียงกันแทบจะเป็นหน้ากระดานอยู่หน้ากล้อง นั่นอาจหมายความว่าในพื้นที่ดังกล่าวยังมีคนอีกมากยืนเบียดเสียดกันอยู่ด้านหลัง (แต่ถูกบังไว้ทำให้กล้องมองไม่เห็น) ทำให้คนจำนวน 10 คนที่กล้องมองเห็นนี้ต้องมายืนออเรียงกันอยู่หน้ากล้อง

ถ้ารถว่าง ๆ แล้วดันมีแก๊งเพื่อนมายืนเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนสัก 10 คนด้านหน้ากล้องเพื่อจับกลุ่มคุยกัน กล้องจะตีความว่าไง เพราะกล้องไม่เห็นว่าด้านหลังว่างอยู่ และอีกอย่าง มาเจอบ้านเรา กล้องงงแน่ เพราะเจอคนที่ขึ้นแล้วงอกรากยืนเล่นมือถืออยู่หน้าประตู ไม่เดินเข้าข้างใน กล้องจะตีความว่าไงเนี่ย กล้องจะคิดว่าคนแน่นมาก จนออกันอยู่หน้าประตูไหมเนี่ย

By: akira on 2 October 2022 - 17:20 #1263847 Reply to:1263843

ผมเดานะน่าจะมี 2 แนวทางที่ทำได้

  • วิธีแรก ถ้าเขาใช้กล้อง depth camera ใน 1 ตู้น่าจะมีมากกว่า 1 ตัว ถ้าใช้ประหยัดหน่อยก็อาจ 2 ตัว เพื่อดูภาพให้ได้ทั้ง 2 มุมแนวทแยง โดยติดที่มุมตู้ด้านตรงข้ามกัน แต่ถ้าจะให้เต็มประสิทธิภาพก็คงจะใช้ 4 ตัวเพื่อแก้ไขปัญหาจุดอับของมุมกล้อง จุดที่ยากไม่น่าจะใช่ HW แต่จากภาพที่เขาเขียนว่า AI ก็คงเป็นจุดที่ยากที่สุดของโครงการ ผมเดาว่าเขาน่าจะเอากล้องทุกตัวที่อยู่ในตู้ มาประมวลผลเพื่อสร้างภาพเสมือน แล้วคำนวณความหนาแน่นของจำนวนคนในตู้ เหมือนกล้องติดรถยนต์ที่่แสดงภาพ 360 องศานั่นแหล่ะ โดยนำมาภาพ และองศาการติดตั้งมาคำนวณ โดยอาศัยการ Detect โครงสร้างร่างกายของมนุษย์ แล้ววาดลงไป ก็น่าจะคำนวณได้แล้ว แต่ผมว่าวิธีนี้ต้นทุนน่าจะสูงเกินไป แถมถ้าจะให้กึ่ง real-time น่าจะเป็นเรื่องลำบาก กับรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ แถมน่าจะซ่อมบำรุงลำบาก รวมถึงเครื่องแม่ข่ายประมวลผลไม่น่าจะติดตั้งในรถไฟด้วย เพราะซ่อมบำรุงยาก น่าจะส่งออกมาประมวลผลบน Cloud แล้วจอดึงข้อมูลออกไป เลยคิดว่า น่าจะใช้วิธีที่ 2

  • ก็ง่ายเลย ติดกล้อง depth camera 2 ตัว ตรงข้ามกัน ถ้าเจอปัญหาคนบังหน้ากล้อง ก็ใช้กล้องอีกตัวที่อยู่ด้านตรงข้าม ยิงสัญญาณวัดความลึกจากด้านหลัง ถ้าด้านหลังว่างก็คือ มีคนบังกล้องอีกตัวอยู่นั่นแหล่ะครับ แต่วิธีนี้จะติดปัญหานิดนึงตรงมุมอับของกล้อง อาจไม่สามารถตรวจสอบคนที่ยืนมุมตู้ได้ ยกเว้นติดกล้องเพิ่มเป็น 4 ตัวตามมุมตู้ แล้วที่เหลือก็เหมือนข้อ 1

เดาล้วนๆ นะครับ

By: Kazu
iPhone Windows Phone Android Ubuntu
on 2 October 2022 - 22:39 #1263866 Reply to:1263843

นับตามจำนวนหัว เพราะงั้นจะเรียงเป็นหน้ากระดานยังงัยก็จะมีที่ว่างให้เห็นคนข้างหลังได้อยู่ดี

By: sapjunior
Android Ubuntu Windows
on 2 October 2022 - 20:09 #1263856

จริงๆรถเมล์บ้านเราของขสมก มันก็มี depth camera อยู่นะครับ ตรงประตูเลย เข้าใจว่ามากับเซ็ตจอที่บอกสถานี

By: Pingz
Contributor iPhone
on 2 October 2022 - 21:21 #1263863

ชานชลา -> ชานชาลาสถานที -> สถานี

By: ตะโร่งโต้ง
Writer Android Windows
on 2 October 2022 - 22:53 #1263867 Reply to:1263863
ตะโร่งโต้ง's picture

แก้แล้วครับขอบคุณครับ


ช่างไฟสมัครเล่น (- -")

By: ZeaBiscuit
iPhone Android Ubuntu Windows
on 3 October 2022 - 12:07 #1263888
ZeaBiscuit's picture

เอาจริงๆถ้างบน้อย ใช้ DSP ธรรมดาก็ได้นะ ไม่ต้องถึงขั้น AIทำพื้นรถเป็นสีเฉพาะ สีนึง แล้วใช้กล้องมุมกว้างจับ คำนวนดูว่าสีของพื้นรถมีกี่ %

By: Virusfowl
Contributor Android Symbian Windows
on 5 October 2022 - 06:24 #1264125

คิดอีกวิธีคือใช้เป็นกล้องอินฟาเรตแล้วนับจุดความร้อนเอาแทนได้ไหมหว่า...


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.